คำนวณหนี้แบบง่าย ส่งผลดีต่อการกู้คอนโด
คำนวณหนี้แบบง่าย ส่งผลดีต่อการกู้คอนโด
คำถามแรกที่คนอยากกู้สินเชื่อมักจะนึกถึงคือ “เราจะกู้ได้เท่าไร” แต่รู้หรือไม่ว่า สิ่งสำคัญกว่ากันนั้น ก็คือการคำนวณหา “ภาระหนี้” ที่มีอยู่ และวันนี้เรามีวิธีหาคำตอบแบบง่ายๆ ดังนี้
ประมาณการรายได้
ได้จากการนำรายได้คงที่ คือส่วนที่จะได้รับอย่างแน่นอน เช่น เงินเดือน โบนัสประจำปี มาบวกด้วยรายได้ไม่คงที่ เช่น ค่าคอมมิชชั่น เบี้ยเลี้ยง ค่าล่วงเวลา ส่วนแบ่งจากยอดขายสินค้า ค่าบริการ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมัน ค่าวิชาชีพ ค่าตำแหน่ง ฯลฯ
โดยรายได้ส่วนที่แน่นอน จะสามารถนำมาคำนวณได้ทั้ง 100 % เช่น เงินเดือนเดือนละ 25,000 บาท และส่วนอื่นๆ ที่สามารถใช้วิธีหารเฉลี่ยจากจำนวนเต็มทั้งปี เช่น ถ้าโบนัสปีละ 120,000 บาท ก็หาร 12 ได้เท่ากับเดือนละ 10,000 บาท นำไปบวกกับฐานเงินเดือนได้ทันที
แต่รายได้ส่วนที่ไม่แน่นอน ธนาคารอาจจะใช้วิธีขอดูย้อนหลังได้ระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี เช่น ค่าคอมมิชชั่น ค่าโอที ค่าตำแหน่ง ฯลฯ ไม่ว่าจะได้ประจำหรือได้บ้างไม่ได้บ้างแล้วแต่นโยบายบริษัทหรือผลประกอบการ ธนาคารอาจจะนำรายได้ส่วนนี้ย้อนหลัง 6 เดือน (ถึง 2 ปี) ล่าสุด มาบวกกัน แล้วหาร 6 หรือ หาร 12 ได้ออกมาเท่ากับรายได้เฉลี่ยในแต่ละเดือน ซึ่งก็มีบางธนาคารที่คิดยอดรายได้ที่ไม่คงที่เหล่านี้ให้เพียง 50 % ด้วยเหตุผลว่าเป็น “รายได้ที่ไม่มั่นคง” และบางธนาคาร ก็อาจไม่นำมาคำนวณเป็นรายรับเลย
ประมาณการหนี้
ส่วนของหนี้สินหรือรายจ่ายของผู้กู้ โดยหลักเกณฑ์ที่ธนาคารใช้ในการพิจารณาผู้กู้ ธนาคารจะไม่ได้อยากรู้แค่ “ภาระหนี้” หรือไม่ใช่แค่รู้ว่าคนคนนั้นมีหนี้ต่อเดือนเท่าไร เพราะบางคนมีหนี้ 30,000 บาท อาจมีชีวิตอยู่สุขสบายกว่าคนที่มีหนี้เพียง 15,000 บาท ก็เป็นได้ เนื่องมาจากรายได้ต่อเดือนของคนแรกนั้นมีมากกว่า และมากพอจะจัดสรรเพื่อการชำระหนี้โดยไม่เบียดบังรายได้ประจำเดือนส่วนอื่น ๆ นั่นเอง
สิ่งที่ธนาคารอยากรู้เพิ่มไปอีกก็คือ “ความสามารถในการชำระหนี้” หรือหนี้ต่อเดือนนั้นเมื่อเทียบกับรายได้ที่มีแล้ว อยู่ในระดับที่ผู้กู้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติของตนเองหรือไม่ และจะเป็นตัวกำหนดว่า บุคคลคนนั้นจะมีความสามารถในการทำสินเชื่อ ทำบัตรเครดิต หรือกู้เพิ่มได้มากน้อยเพียงไรนั่นเอง
ซึ่งการคำนวณหาภาระหนี้ต่อเดือนที่ว่านี้ จะครอบคลุมตัวเลขฝั่งรายจ่ายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ผ่อนหนี้บัตรเครดิต ผ่อนโทรศัพท์มือถือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าห้อง ฯลฯ โดยให้รวบรวมรายจ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน แล้วนำมาหารด้วยรายรับทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละเดือน
สมมติว่า คุณมีภาระที่ต้องจ่ายต่อเดือนทั้งสิ้น 20,000 บาท และมีรายรับทั้งหมด 60,000 บาท เราสามารถคำนวณอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวมของคุณได้ด้วยสูตรง่ายๆ คือ
( รายจ่าย / รายได้ ) X 100
( 20,000 / 60,000 ) X 100
= 33.33%
ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อ จะเรียกสิ่งนี้ว่า “อัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวม” (Debt to Income Ratio : DTI) จากการคำนวณจะมี DTI = 33.33% หรือทุก 100 บาทของคุณ จะถูกแบ่งไปใช้หนี้ 33.33 บาท
ซึ่งธนาคารจะให้ความสำคัญต่อ DTI มาก เพราะถ้าผู้กู้มี DTI ต่ำ ก็แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนที่ดีระหว่างหนี้สินและรายได้ ตรงกันข้าม ถ้าผู้กู้รายใดมี DTI สูง ธนาคารอาจมองว่าเป็นสัญญาณแสดงถึงการมีสัดส่วนหนี้มากเกินไปสำหรับรายได้ที่ตนมี ธนาคารโดยทั่วไปเห็นว่าเป็นค่า DTI ที่เหมาะสม คือควรมีไม่เกินกว่า 36%
จากตัวอย่างข้างต้น ธนาคารจะถือได้ว่ามีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี และโอกาสที่จะขอสินเชื่อผ่านก็มีอยู่มาก
แต่ถ้าผู้กู้ที่มีภาระหนี้เกินเกณฑ์ของธนาคาร ทางธนาคารก็อาจจะไม่อนุมัติวงเงินสินเชื่อให้ หรือเสนอวงเงินที่คุณมียอดผ่อนชำระต่อเดือนต่ำ ทำให้วงเงินอนุมัติอาจจะน้อยกว่าที่คุณคาดหวังไว้
ข้อแนะนำสำหรับมือใหม่ที่อยากกู้ผ่าน ก็คือต้องหมั่นทบทวนเครดิตหนี้สินของตนเอง เช่น ถ้ามีหนี้บัตรอยู่ ทางที่ดีควรรีบปิดบัตรด้วยการชำระเต็มจำนวนก่อนยื่นขอสินเชื่อ ซึ่งผู้กู้สามารถเปิดบัตรใบเดิมได้อีกครั้งทันทีหลังจากธนาคารอนุมัติสินเชื่อคอนโดแล้ว โดยไม่มีผลอะไรกับการอนุมัติสินเชื่อบัตรและวงเงินบนบัตร
หรือคนที่ชอบผ่อนชำระค่าสินค้า ซึ่งเป็นหนี้ที่ตัวเลขต่อเดือนค่อนข้างต่ำ แต่เมื่อนำมาคำนวณภาระหนี้ตอนขอสินเชื่อคอนโด ตัวเลขเหล่านี้กลับมีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อค่อนข้างมาก เช่น ตัวอย่าง ถ้ามีภาระค่าผ่อนมือถือ เพียงเดือนละ 3,500 บาท แต่อาจจะทำให้ความสามารถในการกู้ลดลงไปประมาณ 500,000 บาท (เทียบจากการคำนวณคร่าว ๆ ของการคิดวงเงินกู้จากฐานรายได้ที่ ล้านละ 7,000)
วิธีที่นิยมใช้กันในหมู่ผู้กู้ ก็คือการย้ายหนี้ของตนเอง จากส่วนที่ธนาคารมองเห็น ไปเป็นหนี้ในส่วนที่ธนาคารมองไม่เห็นแทน เช่น ยืมเงินจากญาติมาชำระปิดหนี้ แล้วค่อยผ่อนให้กับญาติแทน ขายสินทรัพย์เพื่อนำมาชำระหนี้หรือวิธีการรีไฟแนนซ์หนี้ เพื่อยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้นานออกไป ทำให้ค่างวดที่ต้องจ่ายหนี้ต่อเดือนลดลง
แต่ไม่ว่าจะมีเทคนิคในการบริหารจัดการหนี้ขั้นเทพ หรือแม้แต่การโอนย้ายหนี้เดิมไปเป็นรูปแบบอื่นๆ ต้องไม่ลืมว่านั่นไม่ใช่การปลดหนี้ เป็นเพียงการปรับแต่งบัญชีหนี้สินให้เหมาะสมต่อการขอสินเชื่อ และการขอสินเชื่อที่จะนำมาซึ่งหนี้สินก้อนใหม่นั้น ก็ไม่ควรมากจนส่งผลกระทบต่อสถานภาพทางการเงินของตนเอง หรือทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเป็นปกติสุขได้
ข่าวสารแนะนำ