ประกันภัยอาคาร เรื่องที่คนซื้อคอนโดต้องศึกษาให้เข้าใจ

การทำประกันภัยอาคารเป็นวิธีการหนึ่งในการป้องกันความเสี่ยงสำหรับโครงการคอนโดมิเนียม หรืออาคารชุด ซึ่งโดยทั่วไปโครงการจะทำประกันภัยอาคารชุด ซึ่งแย่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประกันภัยความคุ้มครองส่วนกลางของอาคาร ซึ่งเป็นการทำประกันภัยที่คิดจากมูลค่าโครงการ โครงสร้าง พื้นที่ส่วนกลาง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งจะครอบคลุมถึงเรื่องของการถูกโจรกรรม อัคคีภัย อุทกภัยหรือน้ำท่วม พายุ หรือภัยธรรมชาติต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวอาคารโดยรวมต่อคอนโด

ส่วนการทำประกันในแบบที่ 2 คือ การทำประกันภัยสำหรับบุคคลที่ 3 ประกันภัยลักษณะนี้ทำขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากส่วนกลางของโครงการหรือนิติบุคคล แล้วไปโดนบุคคลภายนอก หรือผู้ที่อยู่นอกเหนือจากโครงการ
ซึ่งประกันภัยจะมีการพิจารณาทุนประกันและเงื่อนไขในการทำประกันภัยนั้นๆ เพราะทุนประกันภัยโดยรวมนั้นเป็นการคำนวณจากความเสียหายในระดับ 100% ดังนั้นจึงต้องมีเงื่อนไขที่จำกัด เช่น ถ้าหากว่าโครงการคอนโดเกิดอยู่ในพื้นที่แผ่นดินไหว แล้วอาคารถล่มลงมาทั้งหมด ก็ต้องมาดูเงื่อนไขของประกันภัยอาคารนั้นว่า ระบุวงเงินคุ้มครองไว้ที่เท่าไหร่ หากระบุไว้ว่าได้วงเงินคุ้มครอง 50 ล้านบาท ก็จะได้รับตามจำนวนในเงื่อนไขนั้น

สำหรับเจ้าของห้องชุด การทำประกันภัยความเสียหายที่ควรพิจารณาหลักๆมี 2 เรื่อง คือ

การทำประกันอัคคีภัย
ในกรณีที่เจ้าของห้องทำประกันเอง เพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพย์สินภายในห้อง เพราะการอยู่อาศัยในคอนโดนั้นมีพื้นที่จำกัด หากเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นมาอาจไม่สามารถยับยั้งได้ทัน หากมีการกู้ซื้อคอนโดกับธนาคารที่ต้องมีการใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกัน จะต้องมีการทำประกันอัคคีภัย ส่วนคนที่ซื้อคอนโดแบบไม่ได้กู้ธนาคาร การทำประกันอัคคีภัยไว้ก็เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะหากเป็นการซื้อคอนโดเพื่อลงทุนปล่อยเช่า ซึ่งการทำประกันจะเป็นการประกันความคุ้มครองเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซม และชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งอาจจะเสียไปมากกว่าที่เก็บค่าประกันความเสียหายจากผู้เช่าก็ได้

การทำประกันภัยบุคคลที่ 3
เป็นการทำประกันภัยคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน ของผู้ที่ได้รับความเสียหายจากความประมาทหรืออุบัติเหตุที่เกิดจากเจ้าของห้อง เช่น มีสิ่งของจากห้องร่วงหล่นไปโดนบุคคลอื่น หรือเกิดอุบัติเหตุสร้างความเสียหายไปถึงห้องข้างเคียง

อย่างไรก็ตาม การทำประกันภัยอาคารนั้น เป็นสิ่งที่พึงทำเอาไว้ เพราะนิติบุคคล หรือฝ่ายจัดการดูแลอาคาร จะต้องคอยเฝ้าระวังมิให้เกิดข้อผิดพลาด หรือความเสียหายขึ้น และต้องสังเกตว่ามีโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ หรือความเสียหายในด้านในได้บ่อย เพื่อจะได้หาแนวทางป้องกันในระยะยาว และทำประกันให้ครอบคลุมความเสียหายโดยรวมที่อาจเกิดขึ้นได้ และควรจะต้องคอยตรวจสอบไม่ให้เกิดความเสียหาย เพราะถ้าหากมีการเคลมประกันอยู่บ่อยครั้ง ก็จะทำให้เบี้ยประกันภัยในปีต่อๆไปมีอัตราเบี้ยแพงขึ้น